Peer Story

Buddy Review เอนเจนซี่ Influencer Marketing กับภารกิจให้ทุกคนเป็นอินฟลูเอนเซอร์

by
PeerPower Team
May 3, 2024

Buddy Review เอนเจนซี่ Influencer Marketing กับภารกิจให้ทุกคนเป็นอินฟลูเอนเซอร์ 

คอลลัมน์ Our Journey นี้เราจะพาทุกคนมารู้จัก Buddy Review แพลตฟอร์ม Influencer Marketing ผู้อยู่เบื้องหลังความสำเร็จแคมเปญโฆษณาของหลายแบรนด์ดัง และเป็นหนึ่งในบริษัทที่ได้รับการคัดเลือกจาก Finanacial Times ให้เป็นบริษัทในหมวด Advertising & Marketing การเติบโตเร็วที่สุดอันดับ 4 ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก!

บล็อกนี้จะคุยกับ 3 ผู้บริหารและผู้ก่อตั้งของบริษัท ได้แก่ คุณพัชร-ณพัชร รัตนถาวรกิติ คุณนิค-ณัฏ์ฐดนัย รักตประจิต และคุณบอส-เศรษฐพร ศรีวิไล ถึงเส้นทางของบริษัทและเคล็ดลับที่ทำให้ธุรกิจประสบความสำเร็จ 

“คนธรรมดา” ที่มี “อิทธิพล” ต่อการตัดสินใจ

คนที่โตมากับโซเชียลมีเดียในยุค 2010s น่าจะคุ้นเคยกับการที่ไถหน้าฟีดแล้วเห็นรูปดารารีวิวสินค้า 

การทำ influencer marketing สมัยก่อนค่อนข้างตรงไปตรงมา คือจับดารามาถ่ายรูปคู่สินค้าเพื่อโปรโมท อาศัยความดังให้สินค้าเป็นที่รู้จักและติดตลาด 

ฟังแล้วเหมือนง่ายแต่ความจริงคือ ยิ่งดาราดังเท่าไหร่ คนก็ยิ่งดูออกว่างานนี้จ้าง แถมถ้าแคปชั่นอ่านแล้วรู้สึกว่าโดนบรีฟมา คนยิ่งไม่เชื่อว่าสินค้านี้ดีจริงตามที่บอก การโหมโปรโมทจะกลายเป็นผลเสียต่อแบรนด์

แต่ก็เป็นช่วง 2010s อีกเหมือนกันที่เราเริ่มเห็น “คนธรรมดา” ที่มีโปรไฟล์ก็เหมือน ๆ กับเราออกมาเล่าประสบการณ์การใช้สินค้า-ผลิตภัณฑ์ในพื้นที่โซเชียลมีเดีย แล้วกลายเป็นว่าคนแห่ซื้อตามเพราะคอนเทนต์เหล่านั้นมีการนำเสนอที่ตรงไปตรงมา ดู “เรียลกว่า” ในความรู้สึก

ความเรียลกลายเป็นมิติที่แบรนด์ตามหา ซึ่งสิ่งนั้นต้องมาจากคนธรรมดาที่มีอิทธิพลทางความคิด หรืออีกชื่อคือ “อินฟลูเอนเซอร์” อาชีพใหม่ที่โตพร้อมวัฒนธรรมโซเชียลมีเดีย 

 

อินฟลูเอนเซอร์ อุตสาหกรรมที่ยังขาดการจัดการ

อินฟลูเอนเซอร์คล้ายดาราที่ความดัง แต่ต่างกันที่ความพร้อมในการบริหารจัดการ 

ดาราส่วนใหญ่มักมีผู้จัดการคอยหางาน ตั้งเรทราคา และมีผลงานในสื่อต่าง ๆ ที่การันตีความสำเร็จ ในขณะที่อินฟลูเอนเซอร์เป็นอาชีพใหม่ ไม่มีใครรู้ know-how ว่าต้องจัดการยังไง อุปสรรคเกิดตั้งแต่การตั้งเรทราคาให้แฟร์ (แพงไปไม่จ้าง ถูกไปก็โดนเอาเปรียบ) หรือควรใช้อะไรเป็นตัววัดความสำเร็จในงานนั้น ๆ 

เมื่อการจัดการไม่พร้อมแบรนด์จึงหลีกเลี่ยงไม่จ้างเพราะไม่อยากเสี่ยงกับผลลัพท์ที่คาดเดาไม่ได้ สิ่งนี้ต่อมาจะกลายเป็นช่องที่ Buddy Review เห็นโอกาสทางธุรกิจ 

มากกว่า Buddy Review คือ Buddy ที่ดูแลทุกฝ่าย 

“ตอนนั้นเราเริ่มเห็นว่าโมเดลธุรกิจนี้ทำให้บริษัทมีรายได้ที่มั่นคง ส่วนหนึ่งเป็นเพราะการทำ influencer marketing เติบโตมากขึ้น และแบรนด์เองก็เริ่มมองหาความเรียล” 

คุณพัชร หนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้งของ Buddy Review เล่าให้เราฟังในงาน community meet up โดยมีแบ็กกราวด์ข้างหลังเป็นภาพบนจอโปรเจคเตอร์ที่เล่าเส้นทางของธุรกิจ

Buddy Review เกิดจากกลุ่มเพื่อน 3 คนที่ร่วมพัฒนาแอปพลิเคชันมาด้วยกันตั้งแต่ปี 2012 คิดค้นแพลตฟอร์มหลากหลายตั้งแต่ e-Commerce, FinTech, Marketing จนมาจับทางถูกที่แพลตฟอร์มหาอินฟลูเอนเซอร์รีวิวสินค้าที่สร้างรายได้ให้บริษัท

หลักคิดของธุรกิจตั้งอยู่บนพื้นฐานที่ธรรมดาที่สุด คือ เป็น Buddy ที่ช่วยดูแลทุกคน จับคู่อินฟลูฯ เข้ากับงานที่เหมาะสม ขณะเดียวกันก็ช่วยแบรนด์วัดผลความสำเร็จจากการทำงานของอินฟลูฯ นั้น ๆ 

ดังนั้นไม่ว่าจะเป็นใคร มาจากสายอาชีพอะไร มียอด follower เท่าไหร่ แพลตฟอร์มนี้ก็จะช่วยทุกคนหางาน และคิดค่าตอบแทนแบบแฟร์-แฟร์ ทั้งสองฝ่าย และไม่ต้องกลัวว่าจะไม่มีงานส่งให้เพราะสมัยนี้คาแรคเตอร์แบบไหนก็มีพื้นที่ให้ตัวเองได้เฉิดฉาย (อ่านเทรนด์ niche influencer คลิก)

จากแอปฯ รีวิว แพลตฟอร์มนี้พัฒนาขึ้นมาเป็นเอเจนซี่ Influencer Marketing ที่มีระบบดูแลอินฟลูเอนเซอร์ของตัวเอง ปัจจุบันบริษัทมีนักรีวิวมากกว่า 100,000  คน  สิ่งนี้ต่อยอดเป็นกลายเป็นจุดแข็งที่ทำให้เอเจนซี่สามารถออกแบบแคมเปญการตลาดได้อย่างแม่นยำจนทำให้มีลูกค้าเป็นหลายแบรนด์ชั้นนำในไทย

Buddy Review ในบทบาทของเอเจนซี่ Influencer Marketing

ทุกวันนี้ถ้าเข้าไปในหน้าเว็บไซต์ของ Buddy Review จะเห็นว่าบริษัทดูแลอยู่ 2 ส่วนสำคัญ

  1. อินฟลูเอนเซอร์  

Buddy Review มีแพลตฟอร์ม www.buddyreview.co ที่เปิดให้ทุกคนสมัครเป็นอินฟลูเอนเซอร์แล้วเข้ามารีวิวสินค้าได้ โดยแพลตฟอร์มนี้จะเป็นตัวจัดการช่วยคัดงาน ตรวจงาน จ่ายค่าตอบแทน และยังมีพอร์ตโฟลิโอสะสมงานรีวิวต่าง ๆ เพื่อเป็นเครดิตการทำงานในอนาคต 

  1. ลูกค้าแแบรนด์

ตัวแพลตฟอร์มเดียวกันนี้กลายมาเป็น “ถังข้อมูล” ที่ทำให้บริษัท รู้ความสามารถของอินฟลูเอนเซอร์คนนั้น ๆ อย่างแม่นยำ รู้ยอด engage ยอด reach รู้รูปแบบคอนเทนต์ที่ฮิตเป็นไวรัล ดังนั้นเมื่อได้รับโจทย์จากจึงสามารถออกแบบแคมเปญให้ตรงกับความต้องการได้ไม่ยาก นอกจากนั้นยังให้คำแนะนำ ช่วยเลือกคน ดูแลเนื้อหา วัดความสำเร็จ  ไปจนถึงปรับเปลี่ยนกลยุทธ์ให้ทันกระแสที่เปลี่ยนอย่างรวดเร็ว

คุณบอส หนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้งที่ดูแลด้านเทคโนโลยีของบริษัทได้ให้ความเห็นเพิ่มเติมว่า 

“เรามีหน้าที่เป็นตัวกลางประสานงาน ดังนั้นเราต้องเข้าใจความต้องการของทั้งสองฝ่ายและแนะนำได้ว่าอะไรเหมาะสมที่สุด”

นักลงทุน รางวัล และความสำเร็จของ Buddy Review 

เหมือนกันอีกหลายธุรกิจสตาร์อัพที่ต้องการเงินทุน ในช่วงแรก Buddy Review หาทุนจากการประกวดแข่งขันโครงการ dtac Accelerate Batch 5 จนได้พบคุณหมู-ณัฐวุฒิ พึงเจริญพงศ์ ผู้ก่อตั้งแพลตฟอร์ม Ookbee ที่มีวิสัยทัศน์ทางธุรกิจตรงกัน 

ด้วยความน่าสนใจของธุรกิจ คุณหมูจึงเป็นนักลงทุน angel investor ควบ mentor ที่ให้ทุนและคำปรึกษาจนพัฒนามาเป็นแพลตฟอร์มการตลาด Influencer Marketing มีจุดแข็งอยู่ที่ออกแบบการจัดการแคมแปญ และเชี่ยวชาญพิเศษในการคัดเลือกอินฟลูเอนเซอร์อย่างหลากหลายจนตอบโจทย์แบรนด์ได้อย่างครบถ้วน

การันตีความสำเร็จล่าสุดจาก Financial Times ให้เป็นหนึ่งในบริษัทที่เติบโตเร็วเป็นอันดับ 4 ในประเทศไทยและในเอเชียแปซิฟิกในหมวด Advertising & Marketing

เคล็ดลับความสำเร็จของ Buddy Review

ตลอด 5 ปีที่ผ่านมาตั้งแต่ก่อตั้ง Buddy Review เป็นบริษัทหนึ่งที่มีการเติบโตอย่างรวดเร็ว นอกจากการจัดการและการบริการลูกค้าที่แข็งแรง ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการบริหารทุนอย่างมีประสิทธิภาพ 

คุณนิคหนึ่งในผู้ก่อตั้งที่รับผิดชอบด้านการเงินได้บอกกับเราว่า 

“ช่วงทำธุรกิจแรก ๆ เราไม่ได้คิดถึงค่าใช้จ่ายส่วนเกิน แต่ทำมาเรื่อย ๆ ก็จะเห็นว่าในแต่ละโปรเจคมีค่าใช้จ่ายอะไรบ้าง แต่เราต้องมีแผนสำรองไว้เสมอเพื่อรับมือไม่ให้งบบานปลายและกระทบกับงานส่วนอื่น”

PeerPower และ Buddy Review เมื่อการระดมทุนคือโอกาสเพื่อความเติบโตของธุรกิจ 

Buddy Review ได้ระดมทุนกับ PeerPower ในปี 2023 เป็นอีกเจ้าที่มีรูปแบบธุรกิจโดดเด่นในคอมมิวนิตี้ของเราซึ่งระดมทุนสำเร็จไปกว่า 8 ล้านบาทในรูปแบบของ Basic Bond โดยเงินทุนนี้บริษัทนำไปใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนเพื่อรองรับงานบริการด้านอื่นที่เพิ่มขึ้น 

ทุกวันนี้นอกจากเงินทุนสนับสนุนจาก angel investor แล้ว Buddy Review ก็ยังมีเงินจากนักลงทุนรายย่อยที่มองเห็นศักยภาพในการเติบโตของบริษัท 

ข้อมูลการระดมทุนกับ PeerPower


จำนวนเงินระดมทุน: 8,000,000 บาท 

รูปแบบเงินทุนคราวด์ฟันดิง: Basic Bond 

PeerPower ยินดีที่ได้เป็นส่วนหนึ่งในความสำเร็จของ Buddy Review และเราพร้อมสนับสนุนธุรกิจให้ก้าวไปได้ไกลขึ้นด้วยการช่วยสนับสนุนธุรกิจที่มีศักยภาพให้เข้าถึงแหล่งทุนจากนักลงทุนนับพันบนแพลตฟอร์มของ​ PeerPower

คำเตือน : การลงทุนในหุ้นกู้คราวด์ฟันดิงผ่านเพียร์ พาวเวอร์ เป็นการลงทุนสำหรับนักลงทุนที่มีความรู้ความเข้าใจเพียงพอทั้งด้านความเสี่ยง และความสามารถในการตัดสินใจลงทุนด้วยตนเอง ความเสี่ยงในที่นี้หมายถึงความเสี่ยงด้านสภาพคล่องของหลักทรัพย์และความเสี่ยงในการสูญเสียเงินจากการลงทุน การลงทุนในหุ้นกู้คราวด์ฟันดิงเป็นการลงทุนที่เหมาะสมกับนักลงทุนที่ต้องการกระจายความเสี่ยงให้กับพอร์ตการลงทุน นักลงทุนจะสามารถเริ่มลงทุนได้ต่อก็ต่อเมื่อนักลงทุนทำการลงทะเบียนและผ่านแบบประเมินความรู้ความเข้าใจในการลงทุนแล้ว

Author
PeerPower Team

สู่เป้าหมายทางการเงินที่ไกลขึ้น

ลงทุนและระดมทุนเพื่อธุรกิจผ่านคราวด์ฟันดิงกับ PeerPower
สมัคร